ช้อปปิ้งเป็นภาษารัสเซีย

Last updated: 31 ม.ค. 2560  |  2451 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ช้อปปิ้งเป็นภาษารัสเซีย

วันนี้เราจะไปเดินช้อปปิ้งกันค่ะ แต่ก่อนจะไปด้วยกันให้แต่ละคนวางแผนกันก่อนดีกว่าว่าจะซื้ออะไร อ่ะ นึกมาคนละหนึ่งอย่าง ถ้านึกออกแล้ว ลองไปเปิดดิกชันเนอร์รี่ดูซิว่าภาษารัสเซียเค้าเรียกว่ายังไง..... ถ้าได้มาแล้วถือคำนั้นไว้ แล้วไปกันเร้ยยย.... ตอนนี้ครูอยากได้หนังสือซักเล่มล่ะนักเรียนขา....... ตะล๊อกต๊อกแต๊กๆ เดินส่ายตูดหาหนังสือไปเรื่อยๆ อร๊ายยย.....หนังสือเล่มนี้น่าอ่านมากเลย เอาเล่มนี้ก็ละกัน คำว่า “ หนังสือ” ภาษารัสเซีย คือ книга (คนีก้า) ถ้าครูอยากถามว่า หนังสือราคาเท่าไหร่ ครูก็จะใช้โครงสร้างประโยคว่า

Сколько стоит (สโกลก้า สโตอิท) + คำนาม?

ดังนั้น ประโยคคำถามของครูก็คือ

Сколько стоит книга? (สโกลก้า สโตอิท คนีก้า)
หนังสือเล่มนี้ราคาเท่าไหร่

คราวนี้ถึงคราวคุณบ้าง เมื่อกี้หาคำศัพท์คำว่าอะไรมา ก็ใส่คำนั้นลงไปเลย..... เห็นไม๊คะว่าไม่ยากเลย

อ้าว....แล้วถ้าเกิดว่าเดินซื้อของอยู่แต่เราดันไม่รู้ว่าของสิ่งนั้นในภาษารัสเซียเค้าเรียกว่าอะไรล่ะ เราจะทำยังไง ไม่ยากเลย...... เราก็ใช้ประโยคคำถามเดียวกันนั่นแหละ แต่ตัดคำนามที่เมื่อกี้เราใส่ไป นั่นก็คือ คำว่า “หนังสือ” ออก แทนคำว่าหนังสือด้วยคำว่า “อันนี้” ซึ่งในภาษารัสเซียคือคำว่า “ Это” (แอตะ) ก็เป็นอันเรียบร้อย โครงสร้างประโยคก็คือ

Сколько стоит это? (สโกลก้า สโตอิท แอตะ) อันนี้ราคาเท่าไหร่

นอกจากนี้ ในกรณีที่เราถือของสิ่งนั้นอยู่หรือกรณีคนขายรู้อยู่แล้วว่าคุณหมายถึงอะไร คุณสามารถตัดคำว่า Это ทิ้งไปได้ ให้เหลือแค่ Сколько стоит? (สโกลก้า สโตอิท) หรือ ราคาเท่าไหร่ ความหมายไม่ต่างกัน แต่ถ้าเราใส่คำว่า Это เข้าไป จะทำให้มันเฉพาะเจาะจงสิ่งที่เรากำลังถามถึงเข้าไปอีกว่ามันคืออันนี้นะ ไม่ใช่อันอื่นนั่นเองค่ะ


คราวนี้เอาใหม่ เราจะแปลงร่างตัวเองเป็นแม่ค้ากันบ้าง ถ้ามีคนมาถามเราว่า อันนี้ราคาเท่าไหร่ เราจะตอบประโยคนี้ว่ายังไง เราก็ตอบด้วยโครงสร้างประโยคว่า

Это стоит (แอตะ สโตอิท) + ราคา + สกุลเงิน (เช่น ดอลลาร์, บาท, รูเบิล)

แต่ก่อนที่เราจะบอกราคา เราจะต้องมารู้วิธีการบอกสกุลเงินเมื่อต้องใช้กับตัวเลขกันซะก่อน คนไทยเราเรียกสกุลเงินว่า บาท กับตัวเลขราคาทุกตัวเลข ของจะราคากี่บาทเราก็พูดสกุลเงินว่า บาท แต่คนรัสเซีย เค้าจะไม่เรียกอย่างนั้น เค้าจะเรียกสกุลเงินเราแตกต่างไปตามราคาของสิ่งของ โดยให้เราสังเกตจากตำแหน่งของ “ตัวเลขในหลักหน่วย” นั้นว่าลงท้ายด้วยเลขอะไร มีวิธีการจำง่ายๆ ก็คือ

หากราคาของสิ่งนั้น ลงท้ายด้วยเลข 1 เช่น 1 บาท 21 บาท 51 บาท 251 บาท คนรัสเซียเค้าจะใช้คำว่าบาทในรูปของ
Бат (บาท) หรือถ้าเป็นสกุลอื่น (Рубль= รูเบิล / Доллар=โดลลาร)


หากราคาของลงท้ายด้วยเลข 2, 3, 4 เช่น 2 บาท 83 บาท 104 บาท คนรัสเซียเค้าจะใช้คำว่าบาทในรูปของ
Бата (บาตะ) หรือถ้าเป็นสกุลอื่น (Рубля=รูบลยา / Доллара=โดลลาระ)

ส่วนของที่ราคาลงท้ายด้วยเลข 5,6,7,8,9,0 เช่น 500 บาท 35 บาท 177 บาท คนรัสเซียเค้าจะใช้คำว่าบาทในรูปของ
Батов (บาตอฟ) หรือถ้าเป็นสกุลอื่น (Рублей=รูบเลย์ / Долларов=โดลลารอฟ)

แต่......เดี๋ยวก่อน..... มีข้อยกเว้นนี๊สสสเดียว นั่นคือ ตัวเลข 11, 12,13,14 ลงท้ายด้วย 1, 2,3,4 ก็จริง แต่เราจะใช้คำว่าบาทกับตัวเลขพวกนี้ว่า บาตอฟ (จำไว้ๆๆๆๆ ห้ามลืมเป็นอันขาด)

อ้าว.....พอรู้อย่างนี้แล้ว สมมุติว่าของที่เมื่อกี้ลูกค้าถามถึงมีราคา 10 บาท คำว่า 10 ภาษารัสเซียคือ Десять (เดสิท)จากนั้นก็มาดูว่าตัวเลข 10 มันลงท้ายตัวตัวเลขไหน นั่นก็คือ 0 ดังนั้น คำว่าบาทที่เราต้องใช้ในภาษารัสเซีย ก็คือคำว่า Батов (บาตอฟ) ประโยคของเราก็กลายเป็น
Это стоит 10 батов. (แอตะ สโตอิท เดสิท บาตอฟ) อันนี้ราคา 10 บาท

คราวนี้มาดูบทสนทนากันบ้าง
ยัยตุ๊กกี้ขายตุ๊กแกอยู่ที่ตลาดนัดในพัทยาใต้ ป้าแก่ๆ ชาวรัสเซียกลุ่มหนึ่งเดินลงมาจากรถพุ่งมาที่ยัยตุ๊กกี้เพื่อซื้อตุ๊กแก ป้าแก่คนนั้นถามยัยตุ๊กกี้ว่า
ลูกค้า: “Сколько стоит это?”
ยัยตุ๊กกี้จัดแจงเอาตุ๊กแกไปชั่ง แล้วบอกลูกค้าว่า
ยัยตุ๊กกี้ “Это стоит 22 бата. (แอตะ สโตอิท ดวาสัท ดวา บาตะ) อันนี้ราคา 22 บาทค่ะ”

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้