เมโทรรัสเซีย ความลี้ลับ และสุดยอดแห่งการวางแผน

Last updated: 31 ม.ค. 2560  |  957 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมโทรรัสเซีย ความลี้ลับ และสุดยอดแห่งการวางแผน

เมโทรรัสเซีย ความลี้ลับ และสุดยอดแห่งการวางแผน

ในชั่วโมงเร่งรีบ  ช่วงที่ผู้คนหลาย คนต่างเบียดเสียดเยียดยัดกันบนท้องถนน  เพื่อไปยังจุดมุ่งหมายของตนเองด้วยระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด  บางครั้งก็เป็นไปตามแพลนที่วางไว้  แต่ในบางครั้งก็ไม่เป็นไปตามนั้นเสมอไป    อันเนื่องมาจาก ปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน    หลายต่อหลายคนใช้เวลาไปกว่า 3 ชั่วโมง  กับการเดินทางเพียงไม่กี่กิโลเมตร  ปัญหานี้มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไป  โดยเฉพาะมหานครใหญ่ๆ  เช่น กรุงเทพฯ   ที่นับว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่มีรถติดมากที่สุดในโลก  ปัญหาที่หลายต่อหลายรัฐบาลพูดถึง  แต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะแก้ไขได้   ปัญหาของความล่าช้าในระบบขนส่งมวลชล ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น  หากแต่เกิดขึ้นมาช้านานกว่าร้อยปีแล้ว   จนในที่สุด  อังกฤษ นับเป็นประเทศแรกที่มีการเปิดระบบการขนส่งมวลชนรูปแบบใหม่ในขณะนั้น  ที่เรียกกันว่า  เมโทร  หรือ รถไฟใต้ดิน   การขนส่งมวลชนในรูปแบบนี้   ย่นระยะเวลาที่ใช้บนท้องถนนของคนเมืองได้อย่างไม่น่าเชื่อ    จากจุดเริ่มต้นนี้เอง  ทำให้มีการพัฒนาระบบการเดินทางรูปแบบเดียวกันนี้ไปยังประเทศยุโรปอื่นๆ รวมถึง รัสเซีย

 

รัสเซีย ในนามสหภาพโซเวียตขณะนั้น  ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการขนส่งมวลชน  จึงได้ทำการว่าจ้างสถาปนิก และวิศวกรผู้เชียวชาญจากอังกฤษฐานะที่เป็นประเทศแรกที่สร้างรถไฟใต้ดิน  ในปี 1931 นับได้ว่าเป็นการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ของรัสเซียในการจัดทำระบบการเดินทางในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า เมโทร  ซึ่งได้รับการริเริ่มและสนับสนุนจากเลขานุการเอกของเมืองมอสโควในขณะนั้น  คือ นาย  กากาโนวิช ลาซาร มาอิเซเยวิช   ขณะนั้นผู้คนในเมืองมอสโคว ต่างเบื่อหน่ายกับปัญหา ในการเดินทางด้วยระบบแทรม  การตัดสินใจของผู้ว่าการกรุงมอสโควในขณะนั้น  หวังว่าการสร้างระบบการเดินทางแบบใหม่จะช่วยลดปัญหาที่มีอยู่   และทำให้การขนย้ายผู้คนในเมืองไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีราคาถูกลง    ในที่สุด ในเดือน พฤษภาคม  1935  จึงได้เกิดเมโทรสายแรกขึ้น คือ สาย ซาโกลนิกี่  จนถึง ปาร์คกุลตูรึย   โดยเมโทรสายนี้ได้เปิดให้บริการด้วยความยาวของเส้นทางที่ 11 กม  มีสถานีรวมทั้งสิ้น 13 สถานี  นับได้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินแห่งแรกในสหภาพโซเวียตขณะนั้น   นอกเหนือจาก  วิศกร  ผู้เชียวชาญที่ได้ว่าจ้างมาจากอังกฤษ แล้ว   คนงานที่ทำการก่อสร้างล้วนแต่เป็นชาวรัสเซีย  และการประดับประดาตกแต่งต่างๆ รวมถึงศิลปะและประติมากรรมภายในสถานีล้วนแต่ใช้นักจิตรกรมืออาชีพและมีชื่อเสียงของสหภาพโซเวียตในสมัยนั้น   นอกจากนั้น การตบแต่งภายในสถานี  เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงศิลปะและวัฒนธรรมของชาวรัสเซียในแต่ละยุคสมัยได้อย่างดีเยี่ยม  

 

ตั้งแต่เริ่มเปิดใช้งาน  จวบจนถึงปี 1955   ด้วยเป็นการให้เกียรติกับผู้ริเริ่มโมโทร   ชื่อเรียก เมโทรในกรุงมอสโควขณะนั้นจึงไม่ได้ได้ใช้ชื่อ  สตาลิน  หรือ  เลนิน  แต่ใช้ชื่อว่า  เมโทรโปลิแตน กาการโนวิช     นาย นิโคลาย ชูมากอฟ  หนึ่งในสถาปนิก  ได้กล่าวว่า  “แนวคิดของการสร้างเมโทรในช่วงปี 1930 นั้น ไม่ได้ต้องการให้รถไฟใต้ดินเป็นเพียงแค่ระบบการขนส่งสาธารณะ  แต่ยังเป็นอะไรที่มากกว่านั้น  นั่นคือ  ขณะนั้นต้องการทำให้สถานีของรถไฟใต้ดินเปรียบเสมือนหนึ่งพระราชวังใต้ดินสำหรับคนธรรมดาทั่วๆไป   ด้วยเหตุนี้   การตบแต่งภายในเมโทรในสมัยนั้นจึงได้นำเอาหินอ่อน หินแกรนิต  มีความโอ่โถง และนอกจากนั้นยังมีการจัดทำอนุสรณ์สถาน และอนุสาวรีย์  ใต้ดินอีกด้วย”    

ทุกครั้งก่อนการจัดสร้างเมโทร  คณะกรรมการพิเศษที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาจะทำหน้าที่เพื่อดูแลการก่อสร้าง และพิจารณาภาพเสก็ตก่อนเริ่มทำการสร้างจริง  และในภาพเสก็ตเหล่านั้น บางภาพได้รับแนวคิดการสร้างมาจากสตาลินโดยตรง  ที่ต้องการสร้างและตบแต่งเมโทรให้ไม่เป็นเพียงแค่สถานีรถไฟ แต่ภายในนั้นแฝงไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่เขาต้องการสื่อให้ผู้คนในยุคนั้นได้ซึมซับและอีกทั้งยังสร้างอนุสรณ์รำลึกในเหตุการณ์ต่างๆ ภายในเมโทรด้วย


ในยุคสมัยของสตาลิน  เมโทรถูกออกแบบให้เป็นดั่งความต้องการส่วนตัวของเขา  ภายในสถานีประติมากรรมบนเพดานถูกตบแต่งไปด้วยแนวคิด  แสงแห่งอนาคต (Svetloe Budushee) โดยใช้พระอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์  สตาลินต้องการให้ผู้คนที่ใช้บริการสถานีรถไฟใต้ดินได้ชื่นชนความงดงามภายในสถานีประดุจดั่ง  พระราชวังของคนธรรมดา   การตบแต่งในสไตล์ของสตาลินนั้นซ่อนแนวคิดและปรัชญาในแบบของสตาลินเอาไว้มากมาย  พระอาทิตย์ที่ใช้ตบแต่งเพดานของสถานีลึกๆ แล้ว สตาลินต้องการสื่อในความหมายถึง พระเจ้า  ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่ก็คือตัวเขานั่นเอง 


เมโทรในปี 1930 ไม่แตกต่างจากในปัจจุบัน  ในช่วงเวลาเร่งรีบ  ที่ผู้คนต่างพยายามเบียดเสียดเยียดยัดเข้าไปในตู้รถไฟ  สถิติของผู้ใช้เมโทรเพิ่มขึ้นทุกปี  จนในที่สุด  หลังจากการก่อสร้างเมโทรได้ 8 ปี  สถิติของผู้ใช้เมโทรในกรุงมอสโคว ติดอันดับสองของโลก  ซึ่งในขณะนั้นมีผู้ใช้บริการเมโทรถึง 2500 ล้านคนต่อปี

 
ในช่วงเหตุการณ์สงคราม  เมโทรได้มีบทบาทกับผู้คนในสมัยนั้นมาก  เมโทรถูกใช้เป็นหลุมหลบภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายศัตรู  ของชาวเมืองมอสโคว  ในช่วงเวลานั้นเอง  ทุกตารางนิ้วของพื้นเมโทรถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า  เป็นที่หลับนอนของคนทั่วไปยามค่ำคืน  เป็นทั้งโรงพยายาลสำหรับรักษาคนป่วย   และถูกใช้เป็นหอบังคับการของหน่วยงานราชการ   ช่วงเหตุการณ์สงคราม ปี 1941  มีเด็กที่คลอดภายในเมโทรถึง 217 คน

 
ในเดือนตุลาคม 1941 เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 4 วัน กองทัพเยอรมันจะเข้าประชิดเมือง  และการพ่ายแพ้ของชาวเมืองก็จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แน่นอนว่า  ช่วงเวลานั้นเกิดความโกลาหล และความแตกตื่นของผู้คน  รวมถึงคนที่อพยพอยู่ภายในเมโทรด้วย  ในวันที่ 15 ตุลาคม 1941 ได้มีการสั่งปิดประตูทางเข้าเมโทร  ซึ่งในครั้งนั้นเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ที่ประตูเมโทรไม่ถูกเปิดใช้งาน   แต่อย่างไรก็ตาม  ภายในเย็นวันนั้นเอง ผู้ว่าการเมืองได้ยกเลิกคำสั่งนี้   สตาลินไม่ยอมทิ้งกรุงมอสโคว  เขายังคงยืนหยัดต่อสู่กับศัตรูต่อไป  และการกระทำของสตาลินครั้งนี้เอง   ทำให้ความเชื่อมั่นของชาวเมืองมอสโควกลับคืนมา  พวกเขาเชื่อว่า  เมืองอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเขา  จะยังคงอยู่ ต่อไป  

 
เป็นที่น่าสังเกตว่า  แม้แต่ช่วงเวลาของสงครามการสร้างเมโทรก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน  ในบางสถานี เช่น  กูรสกายา  ปาวิเลสกายา   ได้มีการสร้างป้ายอนุสรณ์รำลึกถึงการทำสงคราม   หลังจากที่สงครามสิ้นสุดลงแล้ว แนวคิดการสร้างเมโทรเพื่อทำเป็นหลุมหลบภัยก็ได้ถูกใช้เรื่อยมา   ในช่วงสงครามเย็น  ได้เกิดแนวคิดการสร้างเมโทรเพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยสำหรับบรรดานักการเมือง  ด้วยการสร้างสถานีรถไฟใต้ดินที่มีความลึกมากเป็นพิเศษ  สายรถไฟสายแรกที่สร้างขึ้นตามโครงการนี้คือ สายรถไฟ  อารบัตสโก ปาโกรฟสกายา «Арбатско-Покровская» และในช่วงเวลาเดียวนี้เอง  ว่ากันว่าเริ่มมีการสร้างเมโทรลับที่ใช้สำหรับบรรดาข้าราชการและนักการเมืองรวมถึงครอบครัว  ที่เรียกกันว่า  เมโทรที่ 2 (หรือ อีกชื่อเรียกว่า แผนงาน  D6)


ว่ากันว่า  ภายในเมโทรสายนี้  ได้วางแผนเพื่อใช้เป็นช่องทางลับในการหลบหนี กรณีเกิดสงคราม  มีการสร้างอพาร์ทเมนท์ใต้ดิน  ที่ประกอบไปด้วย สิ่งอำนวยความสะดวก ต่างๆ มากมายไม่แต่ต่างจากบนดิน  แต่ละอพาร์ทเมนท์ มีทั้งห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก ห้องอาหาร และสุขา   ในปี 1991  ได้มีเอกสารรายงานของหน่วยงานราชการทหารของสหรัฐที่กล่าวถึงเมโทรสายนี้ว่า  หนึ่งในช่องทางเข้าหลุมหลบภัยเพื่อไปยังเมโทรสายนี้นั้น  อยู่ใต้พระราชวังเครมลิน  ส่วนอีกที่หนึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแห่งกรุงมอสโคว  หลุมหลบภัยสองแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นหอบังคับการของรัฐบาลในช่วงสงคราม  โดยตั้งอยู่ใต้พื้นดินประมาณ 200-300 เมตร  มีความจุผู้คนประมาณ 10,000 คน  ในการเชื่อมโยงหอบังคับการหรือหลุมหลบภัยเหล่านี้มีรถไฟใต้ดินเป็นตัวเชื่อม และยังเชื่อกันว่ามีช่องทางลับที่ไปถึงสนามบินวนุกกาว่าอีกด้วย

 

นอกเหนือไปจากความเชื่อในเรื่องของเมโทรลับแล้ว  ยังมีความเชื่อของผู้คนทั่วไปที่เกี่ยวกับปฏิมากรรมภายในสถานี อีกด้วย  เช่น ที่เมโทร โปลชิด เรวารูซีอี มีปฎิมากรรมรูปปั้นสัมฤทธิ์ ทหารชายแดนกับสุนัข   บรรดานักเรียนนักศึกษาต่างมีความเชื่อว่า การถูที่จมูกของสุนัขตัวนั้น จะทำให้ผ่านพ้นการสอบไปได้ด้วยดี  จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า  ทำไมเฉพาะส่วนของจมูกสุนัขถูกถูจนเปลี่ยนไปเป็นสีทอง  ด้วยพลังความเชื่อนี้  แม้จะออกจากรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว หลายต่อหลายคนก็ยังคงเชื่อมั่นว่าสุนัขตัวนั้นเป็นสุนัขแห่งความโชคดี

 
ปัจจุบัน ในปี 2013 สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโควมีสถานีรวมทั้งสิ้น 188 สถานี   สายการเดินรถ 12 สาย  แม้ว่าแต่ละสายการเดินรถจะมีชื่อกำกับอยู่  แต่คนทั่วไปแล้วมักจะจำด้วยการจำแนกสีเส้นทางมากว่าอักษรหรือตัวเลข   ระยะห่างของขบวนรถไฟในช่วงเวลาเร่งด่วนห่างกันเพียง 90 วินาที เท่านั้นเอง  ปัจจุบันรถไฟใต้ดินทำการขนส่งผู้โดยสารโดยเฉลี่ยกว่า 7 ล้านคนต่อวัน   รวมเส้นทางยาว  312.9 กม  เมโทรที่มีความลึกมากที่สุดในกรุงมอสโคว  คือเมโทรปาร์คปาเบียดึย  ซึ่งแปลว่า สวนแห่งชัยชนะ  โดยมีความลึกถึง 90 เมตร  และนับว่าเป็นสถานีที่มีบันไดเลื่อนยาวที่สุดในเมืองมอสโคว  คือ ยาวถึง 126  เมตร ส่วนในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  เมโทรที่มีความลึกมากที่สุดคือ เมโทร อัดมิราลตีสกาย่า  ซึ่งมีความลึกถึง 120  เมตรจากพื้นดินถึงจุดต่ำสุดของสถานี  นับเป็นสถานีรถไฟใต้ดินที่ลึกที่สุดของรัสเซีย  และยังนับเป็นหนึ่งในเมโทรที่มีความลึกมากที่สุดในโลกอีกด้วย  เมโทรที่มีความลึกรองลงมาคือ เมโทรโชรนึยเชฟสกายา  ลึกถึง 74 เมตร จากพื้นดิน  จากนั้นคือ สถานี โปลชิด เลนินน่า  ลึก 72 เมตร   นอกจากนี้  เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจากค่าเฉลี่ยความลึกของสถานีโดยรวมแล้วถือว่า  เป็นเมืองที่มีสถานีเมโทรลึกที่สุดในโลก


เมื่อปลายปี 2010 ที่ผ่านมา  คณะผู้ว่าการกรุงมอสโควมีการจัดทำแผนการพัฒนาเมโทรภายในปี 2020 โดยจะสร้างเมโทรให้ยาวออกไปอีก 124 กม  เพื่อที่จะขยายการคมนาคมขนส่งผู้คนออกไปยังชานเมือง   และภายในปี 2025  จะสร้างเส้นทางเดินรถให้ได้อย่างน้อย 650 กม และจะต้องทำเส้นทางวงแหวนเส้นที่สองให้แล้วเสร็จ

ปัจจุบันจำนวนของผู้ใช้บริการรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโคว  ถือว่ามีจำนวนผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับสามของโลก รองจาก  เมโทรในโตเกียว และ เมโทรในกรุงโซล  และตังแต่เดือน เมษายน 2013 ราคา อัตราค่าโดยสารเมโทรในกรุงมอสโคว ต่อการเดินทาง 1 เที่ยว คือ 30 รูเบิล หรือตกประมาณ 30 บาทไทย    


แม้ว่าการสร้างเมโทรจะมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างแพง  แต่ก็มีความจำเป็นไม่น้อย  เพราะนอกจากจะช่วยย่นระยะทางและเวลาของคนเมืองที่เสียไปบนท้องถนนแล้ว  ยังช่วยบรรเทาการจราจรที่ติดขัดลงได้  ด้วยตัวเลือกของการเดินทางใหม่และรวดเร็วกว่า  การเดินทางโดยการใช้เมโทรจะทำให้ผู้เดินทางสามารถคำนวณระยะเวลาในการเดินทางได้อย่างถูกต้องมากขึ้น   ซึ่งต่างกับการเดินทางโดยรถส่วนตัวหรือรถประจำทาง  ที่ระยะเวลาการเดินทางอาจไม่แน่นอน  สืบเนื่องจากปัจจัยของจำนวนรถบนท้องถนน   จะเห็นได้ว่า  ในรัสเซีย ค่าก่อสร้างต่อ ระยะทาง 1 กม  มีรายจ่ายเกือบ 7,000 ล้านรูเบิล  แต่ก็หาได้สร้างความลังเลใจในการสร้างสถานีรถไฟใต้ดินของรัฐบาลไม่  เพราะเมื่อหันกลับมามองจำนวนของผู้โดยสารในมอสโควที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน  การสร้างระบบการคมนาคมที่รวดเร็วนั้น  ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่งในสังคมเมืองยุคปัจจุบัน  และแม้ว่าเราจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการสร้างเมโทรตั้งแต่ยุคสตาลิน จวนจนยุคไฮเทค  แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ   การขนส่งด้วยระบบรถไฟใต้ดิน ยังคงเป็นระบบที่มีความสำคัญกับการใช้ชีวิตผู้คนชาวมอสโคว  ตั้งแต่ยุคสมัยแรกจวบจนปัจจุบัน

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย  ทีมงาน  “Say Hi Russia”


อ้างอิงจาก 

http://strana.ru/journal/2458614

http://ru.wikipedia.org/wiki/%D0%9C%D0%B5%D1%82%D1%80%D0%BE-2

http://www.libo.ru/libo7341.html

http://ru.wikipedia.org/wiki/%D0%9C%D0%BE%D1%81%D0%BA%D0%BE%D0%B2%D1%81%D0%BA%D0%B8%D0%B9_%D0%BC%D0%B5%D1%82%D1%80%D0%BE%D0%BF%D0%BE%D0%BB%D0%B8%D1%82%D0%B5%D0%BD

http://en.wikipedia.org/wiki/Moscow_Metro

http://vad.livejournal.com/176250.html

http://www.ridus.ru/news/16776/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้