สถาปัตยกรรมสตาลิน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของโซเวียต

Last updated: 22 ธ.ค. 2559  |  2651 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สถาปัตยกรรมสตาลิน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของโซเวียต

สถาปัตยกรรมสตาลิน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของโซเวียต

สตาลินแม้ว่าจะไม่ใช่นักออกแบบหรือสถาปนิก แต่ทุกคนในรัสเซียก็รู้ดีว่ารูปร่างลักษณะของอาคารในแบบสตาลินมีหน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือใครที่เดินทางไปในรัสเซียต่างต้องสะดุดตากับสถาปัตยกรรมที่ดูดโดดเด่นเป็นสง่าที่สตาลินได้สร้างขึ้นไว้ก่อนที่ตัวเองจะจากโลกนี้ไป จวบจนปัจจุบันนี้ยังเห็นศิลปะสไตล์สตาลินไม่เพียงแต่ในมอสโกเท่านั้นที่เราสามารถพบเห็นได้ แต่ยังไปไกลถึงยุโรปตะวันออกและในจีนอีกด้วย ในที่นี้เราจะมาพูดถึงที่มาของสไตล์สถาปัตยกรรมของนักปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่มีนามว่า สตาลิน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรกัน...


สถาปัตยกรรมของสตาลินเป็นสถาปัตยกรรมคลาสสิคโซเวียตสไตล์อนุสาวรีย์ (сове́тский монумента́льный классици́зм) หรือบางทีก็เรียกว่า อาณาจักรสตาลิน сталинский ампир ซึ่งสตาลินนำเอาสไตล์การสร้างของเขาในรูปแบบนี้เข้ามาแทนศิลปะในรัสเซียที่เดิมนั้นเป็นแบบ Rationalism และ Constructivism ลักษณะของสถาปัตยกรรมสตาลินที่เรากำลังพูดถึงนื้ เป็นสถาปัตยกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ ความแข็งแกร่ง อำนาจ โดยการสร้างตึกที่มีความสูงใหญ่ โดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น การตบแต่งมีลักษณะสไตล์กรีก คือ ให้ความรู้สึกถึงความหรูหรา ประดับประดาไปด้วยสัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียต เช่น ดาว พวงมาลา ภาพวาดของผู้นำ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตคนในสมัยนั้น อาคารส่วนใหญ่สร้างด้วยปูนสีเทา สีหม่น ไม่นิยมใช้สีน้ำตาล สถาปัตยกรรมที่เห็นชัดในสไตล์สตาลินนี้ในมอสโก ได้แก่ โรงแรมเลนินกราด และโรงแรมยูเครน ตึกมหาวิทยาลัยมอสโก กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม เป็นต้น


สถาปัตยกรรมในแบบสตาลินนี้นอกเหนือจากในสหภาพโซเวียต หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยังเป็นที่นิยมแพร่หลายไปในประเทศยุโรปตะวันออกอีกหลายประเทศ รวมไปถึงจีนก็ยังได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมในนี้ด้วย หากพูดถึงความโดดเด่นของโครงสร้างพื้นฐานในการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบนี้ ก็เห็นจะเป็นการออกแบบให้มีความสะดวกในการเดินทาง มีถนนรายรอบ มีจัตุรัสเพื่อเป็นศูนย์กลางของการรวมผู้คน ร้านค้า และศูนย์บริการตามวิถีชีวิตของคนในสมัยสังคมนิยม วัสดุที่นำมาตบแต่งส่วนใหญ่ใช้ หินอ่อน สำริด ไม้มีค่า และปูนปั้น ปฎิมากรรมที่นำมาใช้ในการตบแต่งแสดงให้เห็นถึงภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ชัยชนะในสงคราม และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่างๆ


หากจะทราบถึงความเป็นมาของสถาปัตยกรรมในรูปแบบนี้คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ 1857 ในนิวยอร์คมีการสร้างลิฟต์แห่งแรกขึ้นบนถนนบรอดเวย์ (จวบจนปัจจุบันลิฟต์แห่งนี้ก็ยังคงทำงานอยู่) จากการสร้างลิฟต์ในสมัยนั้นทำให้คนพยายามที่จะสร้างตึกให้สูงขึ้นแข่งกัน ทั้งในนิวยอร์คและชิคาโก ผู้คนในสมัยนั้นต่างวิพากษ์วิจารย์กันว่า ตึกสูงเหล่านี้ทำให้บริเวณรอบข้างหรือถนนมืดมิดจากเงาของตึกที่บดบังแสงแดดแม้เป็นช่วงเวลากลางวัน อากาศไม่ถ่ายเท และอับลม ดังนั้นในปี 1916 จึงได้ออกกฎห้ามสร้างตึกที่มีขนาดสูงในนิวยอร์ค แต่ในขณะเดียวกันก็หาข้อตกลงในรูปแบบของตึกได้ โดยให้มีการลดหลั่นยอดตึกลงให้ส่วนปลายค่อยๆ เล็กลง ทำให้แก้ปัญหาของแสงแดด และอากาศที่สามารถถ่ายเทในบริเวณรอบอาคารได้ (และเป็นที่มาของรูปลักษณ์ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมแบบสตาลินในสมัยต่อมา) ส่วนในชิคาโก หน่วยงานรัฐไม่สะทกสะท้านต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนทำให้ยังคงสร้างตึกในรูปแบบสี่เหลี่ยมต่อไป ดังนั้น รูปแบบของตึกในนิวยอร์คกับชิคาโกจึงแตกต่างกัน


ในปี 1914 ตึกสำนักงานเทศบาลในนิวยอร์คได้ถูกสร้างสำเร็จ โดยลักษณะของตึกนี้มีสไตล์การสร้างแบบนีโอคลาสสิค หลังจากที่สตาลินได้เห็นตึกนี้ ก็ชื่นชอบและหลงไหลไปกับลักษณะโครงสร้างและรูปแบบการตบแต่ง จึงได้ลอกเลียนแบบอาคารหลังนี้นำมาสร้างในรูปแบบของตนเองในโซเวียต แต่ในสมัยนั้น หากถามใครก็คงไม่มีใครตอบได้ว่าเหตุใดตึกของสตาลินจึงเป็นรูปแบบนั้น และไปเอาต้นแบบมาจากไหน 


สตาลินมีคำสั่งให้สร้างตึกในลักษณะคล้ายๆ กันในรูปแบบของเขาที่มีลักษณะเป็นทรงสูง โดดเด่นประหนึ่งอนุสาวรีย์ที่เห็นได้เด่นชัด ทั้งในกรุงมอสโก ริกะ เคียฟ และวอร์ซอร์ ในสมัยหนึ่งของสตาลิน กรุงมอสโกถูกห้ามไม่ให้มีการสร้างตึกที่มีความสูงน้อยกว่าแปดชั้น ก่อนที่สตาลินจะสิ้นชีพลง เขาได้วางแผนที่จะทำพระราชวังโซเวียต (Дворец Советов ) ที่มีความสูงใหญ่และเป็นสง่าในกรุงมอสโก แต่สร้างไม่สำเร็จเพราะสตาลินเสียชีวิตไปซะก่อน อาคารนี้ถูกออกแบบให้ยอดตึกมีอนุสาวรีย์เลนินที่มีความสูงถึง 100 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ประหนึ่งอนุสาวรีย์เสรีภาพในอเมริกา การก่อสร้างก็ได้ทำขึ้นส่วนหนึ่ง แต่เนื่องจากในขณะนั้นประสบกับปัญหาสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เหล็กต่างๆ ที่แพลนจะมาทำพระราชวังแห่งนี้ถูกนำไปทำเป็นรถถังในการต่อสู้ในสงคราม หลังสงครามแล้วเงินก็ถูกใช้ในการนำมาฟื้นฟูประเทศ ทำให้โปรเจคนี้ไม่คืบหน้า แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดการสร้างพระราชวังแห่งนี้ก็ยังคงอยู่กับสตาลินถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเขา


เมื่อเวลาผ่านมาในสมัยครูชอฟ เขาได้เห็นว่าการสร้างตึกตามแบบที่สตาลินได้วางแผนไว้จำเป็นต้องใช้เงินอย่างมากมายมหาศาล และประเทศในขณะนั้นเป็นช่วงหลังสงครามซึ่งประสบกับปัญหาทางการเงิน การสร้างต่อเติมตามแพลนที่วางไว้จึงล้มเหลว ขณะที่พื้นฐานของพระราชวังนี้ส่วนหนึ่งถูกสร้างไปแล้ว ครูชอฟจึงได้ดัดแปลงโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นสระว่ายน้ำขนาดใหญ่มหึมาที่มีชื่อว่า “มอสโก” และเปิดให้บริการโดยไม่มีวันหยุด สระว่ายน้ำมอสโกเปิดใช้งานตั้งแต่ปี 1960 ถึง 1994 


พื้นที่แห่งนี้ก่อนที่จะมีแพลนในการก่อสร้างพระราชวังโซเวียตเคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์แม่ชี มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยการรุกรานของนโปเลียน แม่ชีในโบสถ์ได้มีส่วนร่วมในการปกป้องการรุกรานของนโปเลียน และทำให้รักษาสมบัติล้ำค้าในโบสถ์ต่างๆ เอาไว้ได้ แต่ภายหลังสงคราม ช่วงสมัยของพระเจ้านิโคลัสที่ 1 ก็ได้สั่งให้ทำลายโบสถ์แห่งนี้และไล่แม่ชีให้ไปอยู่ที่อื่น แม่ชีท่านหนึ่งไม่พอใจกับคำสั่งสองซาร์ เธอจึงนำโซ่มาผูกตนเองไว้กับต้นโอ้กที่โตอยู่ในโบสถ์ แต่ท้ายที่สุดก็ทดแรงต้านของผู้มีอำนาจไม่ไหวจึงจำเป็นต้องออกไปจากที่นั่น แต่ก่อนที่แม่ชีจะออกไปเธอได้สาปแช่งไว้ว่า “ณ ที่แห่งนี้จะไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ เกิดขึ้น” และนี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระราชวังโซเวียตไม่ถูกสร้างขึ้นบนที่แห่งนี้ 


ต่อมาในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 1990 รัฐบาลโซเวียตได้อนุมัติให้มีการสร้างโบสถ์บนพื้นที่แห่งนี้ ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่า “Cathedral of Christ the Saviour” หรือมีชื่อในภาษารัสเซียว่า “Храм Христа Спасителя” ซึ่งถือเป็นโบสถ์นิกายออโทดอกส์ที่สูงที่สุด โดยมีความสูงถึง 103 เมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักและโดดเด่นเป็นสง่าจวบจนปัจจุบัน....

อ้างอิง
http://tema.livejournal.com/1039115.html
http://www.arhitekturno.ru/klassicizm.php
http://ru.wikipedia.org/wiki/Сталинская _архитектура
http://en.wikipedia.org/wiki/Cathedral_of_Christ_the_Saviour
http://ru.wikipedia.org/wiki/Храм_Христа_Спасителя
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้